ถ้าพูดถึงการดูแลรักษารถยนต์ ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายแล้ว ผู้ชายจะชนะเลิศ ทั้งในเรื่องเครื่องยนต์ และความสะอาดเรียบร้อยภายใน สำหรับคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแล็ปท็อปหรือโน้ตบุ๊คนั้น น่าจะไม่มีใครยอมแพ้ในเรื่องความสะอาดภายนอก แต่เท่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะคอมพิวเตอร์นั้นต้องการการดูแลรักษามากกว่าใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาด ซึ่งนี่คือปัญหาที่พบได้บ่อยมาก ใช้คอมโดยไม่ดูแลตรวจเช็คซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ที่ร้ายกว่านั้นก็มี คือไม่เคยดูแลอะไรเลยเป็นปี ๆ และไม่เคยมีใครแนะนำ การดูแลรักษาคอม เพราะเวลาไปใช้คอมที่ทำงานก็มีฝ่ายไอทีคอยจัดการให้อยู่แล้ว
สำหรับคนที่ไม่ใช่สายไอที คงจะไม่รู้ว่าต้องทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ของตัวเองบ้าง เวลามีปัญหาจึงมักยกไปให้ร้านคอมช่วยจัดการให้ หรือเรียกเพื่อนที่เก่งทางนี้มาจัดการ บทความนี้เราจะแนะนำทั้งการดูแลรักษาด้วยตัวเอง และในกรณีที่จำเป็นต้องยกไปที่ร้านไอที
การดูแลรักษาคอมพิวเตอร์เบื้องต้น
- คอมพิวเตอร์ของเราทำงานได้ จะต้องมีสองสิ่งหลักคือ ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์
- ฮาร์ดแวร์ คือตัวเครื่อง เมาส์ คีย์บอร์ด และอุปกรณ์ที่จับต้องได้ทั้งหมด
- ซอฟต์แวร์ คือส่วนที่ทำให้คอมพิวเตอร์ของเราทำงานต่าง ๆ ได้นั่นเอง ทั้งโปรแกรมการทำงานต่าง ๆ และระบบปฏิบัติการ
การดูแลรักษาคอมพิวเตอร์มีอะไรบ้าง
1. ดูแลฮาร์ดแวร์
ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กจะต้องปิดฝาลงทุกครั้งที่ใช้เสร็จ
เพื่อป้องกันฝุ่นละออง หรือเศษขยะชิ้นใหญ่ตกลงไป เพราะบางครั้งเราเปิดพัดลมแล้วลมอาจพัดเศษอะไรไปตกอยู่ในแป้นพิมพ์ ทำให้เกิดปัญหาเวลากดคีย์ตัวนั้น ๆ ได้ นอกจากนั้น อาจมีใครพลาดทำน้ำหกใส่
หมั่นทำความสะอาดคีย์บอร์ดด้วยที่เป่าฝุ่น และแปรงสำหรับปัดทำความสะอาด หรืออาจใช้แปรงแต่งหน้าคอยปัดฝุ่นทุกครั้งหลังเสร็จการใช้คอม
สำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ควรสลับกับการใช้คีย์บอร์ดนอกบ้าง
เพื่อรักษาคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กไว้ให้ใช้ได้นาน ๆ เพราะหากต้องเปลี่ยนคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กจะเสียเงินมากกว่าซื้อคีย์บอร์ดตัวนอกมาไว้ใช้ สำหรับการเลือกซื้อคีย์บอร์ดนอก อาจต้องดูลักษณะการใช้งานของเราว่าเหมาะกับคีย์บอร์ดแบบไหนด้วย
ใช้น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหน้าจอเช็ดทำความสะอาดอย่างระมัดระวัง
รวมถึงการเช็ดทำความสะอาดตัวเครื่อง โดยอาจทำทุก ๆ เดือนได้ถ้าใช้งานในห้องแอร์ แต่ถ้าเป็นห้องลักษณะเปิดที่มีฝุ่นมาก ให้ทำความสะอาดให้บ่อยกว่า และต้องใช้ผ้าสำหรับเช็ดหน้าจอ ให้เช็ดไปในทางเดียวกัน อย่าเช็ดวน ๆ เป็นวงกลม
สำหรับคอมตั้งโต๊ะควรมีที่วางเคสที่เป็นฉนวนเพื่อป้องกันไฟดูด และการใช้งานก็ควรใส่รองเท้าสำหรับเดินในบ้าน นอกจากนี้ก็ควรต่อสายดิน และมีเครื่องสำรองไฟด้วย
2. หลีกเลี่ยงการกินขนมประเภทที่มีผงร่วงกระจาย
ขณะใช้งานคอมพิวเตอร์ ขนมหลายอย่างจะมีผงปรุงรสคลุกอยู่ นอกจากอาจร่วงใส่คีย์บอร์ดแล้ว ยังเลอะนิ้วมือเราที่ต้องสัมผัสแป้นพิมพ์และทุกส่วนของคอมพิวเตอร์
ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กรุ่นเก่าหน่อย ไม่เหมาะจะเปิดใช้งานในอากาศร้อนโดยไม่เปิดแอร์หรือพัดลม ส่วนรุ่นใหม่ ๆ แม้จะระบายความร้อนได้ดีกว่า แต่ก็ไม่ควรใช้งานในอากาศร้อนบ่อย ๆ
นี่คือ วิธีดูแลคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แบบง่ายที่สุดเมื่อไม่มีฝ่ายไอทีที่บ้านให้เราโทรตามมาแก้ปัญหาให้ เพราะที่คิดว่าเรื่องใหญ่ อาจจะแค่เศษขนมตกลงไปใต้คีย์บอร์ดเท่านั้นเอง
3. ดูแลซอฟต์แวร์
หมั่นอัปเดตไดรเวอร์ ด้วยการเข้าไปที่ Device manager โดยกดแว่นขยายข้างโลโก้วินโดวส์มุมล่างซ้ายของหน้าจอ ให้พิมพ์คำว่า Device manager แล้วเข้าไปทำการอัปเดตซอฟต์แวร์แต่ละตัว
เช็คอัปเดตระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ทั้งวินโดวส์ 10 และ 11 จะมีอัปเดตที่เรียกว่า Patch Tuesday คือจะมีการอัปเดตทุกวันอังคารที่สองของเดือน และยังจะมีอัปเดตใหญ่คือ Feature update อีกปีละสองครั้ง
ปิดอัปเดตอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกิดการอัปเดตขึ้นมาในตอนที่เราจำเป็นต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ตัวนั้น
ลบไฟล์ที่ไม่ใช้งานและลบโปรแกรมที่ไม่ใช้ หมั่นลบไฟล์ที่ไม่ได้ใช้งานออกไปบ้าง และตรวจเช็คโปรแกรมที่ไม่ใช้ อาจเป็นไฟล์ใหญ่อย่างเกมบางเกม ที่ไม่เล่นแล้วก็ควรลบทิ้ง จะทำให้คอมทำงานเร็วขึ้น
เก็บไฟล์สำคัญไว้ในฮาร์ดดิสก์ตัวอื่น หรือไว้ในแฟลชไดรฟ์ และถ้าไม่ใช่ไฟล์ใหญ่มากก็อาจเก็บไว้ในเว็บฝากไฟล์ต่าง ๆ เช่น dropbox หรือ google drive หรือทริคสุดคลาสสิกที่ใช้ได้ผลดีคือส่งเมล์ไปให้เมล์ของตัวเราเอง ไฟล์นั้นจะอยู่กับเราไปยาว ๆ เปิดใช้ที่ไหนก็ได้
ลบโปรแกรมหรือไฟล์ต่าง ๆ บนเดสก์ท็อปออกไปบ้าง ปัญหาก็คือมันดูรกโดยไม่จำเป็น ก็ในเมื่อไม่ได้ใช้ ลบออกไปเถอะ
ตั้ง Optimize ให้จัดการในทุกสัปดาห์ เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้มีประสิทธิภาพ มันคือการ Defragmentation หรือการจัดเรียงไฟล์ต่าง ๆให้เป็นระเบียบ ไม่ยุ่งเหยิง
4. สแกนไวรัสบ้าง
เดี๋ยวนี้เราแทบไม่จำเป็นต้องลงตัวจัดการไวรัสเพิ่มเติม เมื่อตั้งแต่วินโดวส์ 10 เป็นต้นมา ก็จะมีตัว Windows Security มาดูแล และคอยอัปเดตความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ควรเข้าไปแสกนไวรัสบ้าง โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าคอมพิวเตอร์เริ่มมีอะไรผิดปกติ
เป็นเพียง วิธีดูแลคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ฉบับง่ายๆสำหรับคนที่ไม่ค่อยสนใจไอทีมากนัก แต่ถ้าหากเข้ามาอ่านบทความในเว็บ Huaknow.com บ่อย ๆ ก็อาจจะพอได้ความรู้ด้านไอทีในระดับเอาตัวรอดกันได้บ้าง เพราะการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาไอทีด้วยตัวเองนั้น จะทำให้เราไม่ต้องไปเสียเงินโดยไม่จำเป็น แล้วยังสามารถแก้ไขปัญหาที่เคยคิดว่ายากได้ในทันทีอีกด้วย